เที่ยวสิงห์บุรี ถิ่นคนกล้า
เที่ยวสิงห์บุรี ถิ่นคนกล้า สิงห์บุรี จังหวัดในเขตที่ราบลุ่มภาคกลางตอนบน ริมฝั่งด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หนึ่งในจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน
โดดเด่นยิ่งใหญ่ด้วยความกล้าหาญของวีรชน และเป็นผืนดินที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ล้อมรอบไปด้วยวัด วิหาร และปูชนียสถานที่สร้างขึ้น
ตามแรงศรัทธา รวมทั้งยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งเกษตรกรรม ทั้งบนดิน และผืนน้ำ
ตามคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า ถิ่นวีรชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อนปลาแม่ลา ย่านการค้าภาคกลาง ไปเที่ยวกัน
สิงห์บุรี ถิ่นคนกล้า ย่านการค้า พระพุทธรูปงามตา
เหตุที่จังหวัดสิงห์บุรีได้ชื่อว่าเป็นถิ่นวีรชนนั้น เนื่องด้วยความกล้าหาญของชาวบ้านบางระจัน เมื่อครั้งที่พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมราชาที่ 3
ในครั้งนั้นชาวบ้านบางระจันสามารถยืนหยัดต่อสู้กับกองทัพพม่าได้นานถึง 5 เดือน โดยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกรุงศรีอยุธยาเลย ถึงแม้ว่าการรบครั้งนั้น
ชาวบ้านบางระจันจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่วีรกรรมอันสุดแสนกล้าหาญของชาวบ้านบางระจันในครั้งนั้น ยังคงเป็นที่จดจำ และประทับใจลูกหลานชาวสิงห์บุรีตลอดมา
จนเกิดเป็นอำเภอบางระจัน ขึ้นในจังหวัดสิงห์บุรี รวมถึงยังมีการตั้งชื่อถนนต่างๆ ในจังหวัดตามชื่อของวีรชนบ้านบางระจันเพื่อเชิดชูความกล้าหาญอีก เช่น
ถนนนายแท่น ถนนนายดอก ถนนนายอิน เป็นต้น
นอกจากเรื่องราวความกล้าหาญของวีรชนคนรุ่นก่อนแล้ว จังหวัดสิงห์บุรียังนับเป็นแผ่นดินที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางพุทธศานา วิถีชีวิตท้องถิ่นล้วนถูกเชื่อมโยง
และล้อมรอบไปด้วยวิหาร ปูชนียสถาน และวัดวาอารามที่ถูกสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร ที่ภายในวิหารเป็นที่
ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์แบบสุโขทัยขนาดใหญ่ ที่มีความงดงามมาก วัดเสฐียรวัฒนดิษฐ์ ที่โดดเด่นด้วยพระพุทธรูปทองคำ พุทธศิลป์สมัยสุโขทัยปางมารวิชัย
ที่งดงามความอ่อนช้อยอิ่มเอิบ บ่งบอกถึงความสมบูรณ์พูนสุขแห่งยุคสมัย วัดประโชติการราม ศักดิ์สิทธิ์ด้วยหลวงพ่อทรัพย์-หลวงพ่อสิน พระยืนศักดิ์สิทธิ์
ที่มีตำนานเล่าขานว่าหากเมืองใดมีพระยืนประดิษฐานอยู่ เมืองนั้นจะมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนมีความสุข และวัดพิกุลทองวัดของหลวงพ่อแพร
พระนักสร้างแห่งจังหวัดสิงห์บุรีที่ชาวเมืองให้ความเคารพ เพื่อสักการะ
พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี หรือพระพุทธรูปนั่ง ปางพระทานพรองค์ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร
พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่และยาวที่สุดของประเทศ สร้างมานานเก่าแก่จนไม่ทราบ แน่ชัดว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่า
ในทำนองนิยายปรำปรา ทำนองเดียวกันกับพระ ปฐมเจดีย์ เช่น กล่าวว่าพระเจ้าสิงหพาหุเป็นผู้สร้าง แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าพระเจ้าพาหุคือผู้ใด ครองเมืองอะไร ในยุคสมัยใด
สันนิษฐานว่าสร้างก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี องค์พระหันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก ความยาว 3 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว
หลวงพ่อแพร วัดพิกุลทอง
ทางด้านเกษตรกรรม สิงห์บุรีก็นับเป็นจังหวัดที่ไม่น้อยหน้าใคร จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ด้วยว่าตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มภาคกลาง
ภาพของผืนนาสีทองยามออกรวงสุกปลั่ง และวิถีชีวิตริมน้ำจึงเป็นภาพอันคุ้นตาหาชมได้ไม่ยาก โดยเฉพาะกับเรื่องปลาน้ำจืด ที่ต้องนับว่าสิงห์บุรีโดดเด่นในเรื่องนี้
จนมีการนำมาดัดแปลงเป็นอาหารหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น เค้กปลาช่อนที่โด่งดังไปทั่วประเทศ กวนเชียงปลาจากปลาจันทร์ และปลากราย และปลาช่อนแดดเดียว
ที่ใครมาสิงห์บุรีเป็นต้องซื้อติดมือกลับบ้านและสำหรับใครที่เป็นนักกินปลาตัวยง ก็ไม่ควรพลาดเทศกาลกินปลา งานใหญ่ประจำจังหวัด ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม 2557
ถึง 4 มกราคม 2558 ณ ศูนย์ราชการจังหวัดสิงห์บุรี โดยงานมักจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ไปจนถึงมกราคม แต่หากใครมาไม่ตรงช่วงเวลางาน การแวะเที่ยวตลาดก็นับ
เป็นอีกความคิดที่ดีในการชมวิถีชีวิตชาวเมือง และเลือกซื้อของฝากกลับบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ตลาดเทศบาล ตลาดบ้านแป้ง ตลาดปากบาง หรือตลาดพรหมบุรี
วัดหน้าพระธาตุ
ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์ไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร สันนิษฐานว่า สถานที่
บริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของเมืองสิงห์บุรีเก่า สิ่งที่สำคัญของวัดนี้ คือ องค์พระปรางค์สูงประมาณ 8 วา
วัดม่วงชุม
สันนิษฐานว่าสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อว่า “วัดกระดังงา” เป็นวัดร้างตั้งแต่สมัยสงครามกับพม่าและเสียกรุงครั้งที่ ๒ โดยได้ขุดพบเศียรพระหินทรายเป็นจำนวนมาก
ต่อมาเมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองสงบหลังมีอิสระภาพจากพม่า ชาวบ้านจึงได้กลับมาตั้ง
ถิ่นฐานใหม่ จนประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๔ นายโคกร่วมกับชาวบ้านได้ก่อสร้างวัดขึ้นมาใหม่
ณ ที่ตั้งวัดปัจจุบันซึ่งใกล้กับวัดเดิม และตั้งชื่อว่า “วัดม่วงชุม”
โบราณสถานเตาเผาแม่น้ำน้อย
แดนศักดิ์สิทธิ์ถิ่นคนกล้า เมืองสิงห์บุรีมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ทรงคุณค่า พบแหล่งเตาเผาโบราณจำนวนมาก มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุ
โดยเฉพาะเครื่องปั้นดินเผาหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกได้ว่า ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่ และประกอบอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผากันอย่างแพร่หลาย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี
เดิมเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดโบสถ์ ก่อตั้งโดยอดีตเจ้าอาวาส(พระเทพสุทธิโมลี)
ได้รวบรวมจัดเก็บรักษาโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่มีคุณค่า ในปี พ.ศ.2496 ได้รับการจัด
ตั้งเป็นสาขาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประจำอำเภออินทร์บุรี